บิทคอยน์คืออะไร?
บิทคอยน์ เป็นเงินดิจิทัล ซึ่งถูกบันทึกไว้ด้วยข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ และไม่มีตัวแทนมูลค่าในรูปแบบเหรียญหรือธนบัตร ขณะที่เงิน 1 บาทสามารถแบ่งออกเป็น 100 สตางค์ บิทคอยน์ 1 เหรียญสามารถแบ่งย่อยได้ถึง 100 ล้านหน่วย
ปัจจุบันบิทคอยน์สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้ แต่จำนวนร้านค้าที่รับบิทคอยน์นั้นยังนับว่าน้อยกว่าสกุลเงินปกติมาก นอกจากนี้การโอนและแลกเปลี่ยนบิทคอยน์ข้ามชาติเป็นไปได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว
นอกจากจับต้องไม่ได้แล้ว บิทคอยน์ยังไม่ได้เป็นของสถาบันการเงินใด ๆ แต่ถูกดูแลโดยเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ที่ช่วยกันจดบันทึกการทำรายการของทั้งระบบพร้อม ๆ กันทุกครั้งที่มีการทำรายการ จึงทำให้การแก้ไขปลอมแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก เทคโนโลยีที่ว่านี้เรียกว่า บล็อคเชน (blockchain)
บ่อยครั้ง บิทคอยน์ ถูกใช้เป็นชื่อเรียกแทนเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ทั้งหมด ซึ่งจริง ๆ แล้วมีนับร้อยสกุล อาทิเช่น Litecoin, Ethereum และ Zcash แต่บิทคอยน์ (BTC) นั้นได้รับความสนใจมากที่สุด
การขุดบิทคอยน์คืออะไร?
วิธีที่ทำให้ได้มาซึ่งบิทคอยน์แบ่งออกเป็นสองวิธีหลัก หนึ่งคือการใช้เงินซื้อ คล้ายกับการนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินเยน หรือ ดอลลาร์สหรัฐฯ
อีกวิธีคือการนำคอมพิวเตอร์ เข้าไปช่วยระบบบิทคอยน์ทำงาน หรือที่เรียกกันว่า การขุดบิทคอยน์ ที่มีกระแสความนิยมในประเทศไทยขณะนี้
การขุดบิทคอยน์ คือการนำคอมพิวเตอร์ของคุณเข้าไปช่วยระบบบิทคอยน์ โดยเครื่องคอมพิวเตอร์จะต้องแข่งประมวลผลการทำรายการให้ได้เร็วที่สุด ผู้ชนะจะได้รับบิทคอยน์เป็นค่าตอบแทน จนกว่าเหรียญที่ถูกกำหนดไว้ทั้งหมด 21 ล้านเหรียญจะถูกสร้างขึ้นจนหมด ซึ่งปัจจุบันได้ถูกขุดออกมาแล้วกว่า 16 ล้านเหรียญ
นักขุดบิทคอยน์ไทย
เมื่อมีผู้ขุดมากการแข่งขันก็ยิ่งสูง ปัจจุบันมีแต่ผู้ที่มีคอมพิวเตอร์ขั้นสูงเท่านั้นที่มีโอกาสชนะ และนักขุดรายย่อยต่างขยับไปขุดเงินดิจิทัลสกุลอื่น ๆ ที่ยังสามารถขุดได้ด้วยอุปกรณ์ประมวลผลอย่างการ์ดจอที่มีวางขายทั่วไป
ปัจจุบันบิทคอยน์ 1 เหรียญมีมูลค่าสูงกว่า 2 แสนบาท ภาคภูมิ ปรีการ พนักงานให้บริการดูแลเครื่องจักรในโรงงาน วัย 34 ปี เริ่มสนใจบิทคอยน์ตั้งแต่ราคา 5,000 บาท แต่ยังไม่มีเงินทุนในตอนนั้น
เขาเริ่มทดลองขุดเหรียญดิจิทัลด้วยคอมพิวเตอร์ที่บ้านซึ่งได้ผลตอบแทนวันละ 200 กว่าบาท เมื่อเห็นว่าสร้างรายได้ได้จริงจึงตัดสินใจขยายฐานการขุด ด้วยการซื้ออุปกรณ์มาประกอบเองโดยหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต
“ปกติประกอบคอมเองอยู่แล้วครับ พอมาจับตรงนี้อาศัยอ่านจากในกลุ่ม ดูยูทิวบ์ มันเลยไม่ยากเท่าไรสำหรับผมครับ” ภาคภูมิกล่าว
ไม่มีเนื้อหานี้
ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.
สิ้นสุด Facebook โพสต์, 1
การ์ดจอที่วางเรียงกัน 8 ชิ้น ซึ่งแต่ละอันมีราคาหลักหมื่น เปรียบเสมือนคนงานเหมืองของเขา พวกมันทำหน้าที่ช่วยประมวลผลเพื่อขุดเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี โดยเป็นการขายแรงเครื่องขุดเพื่อรับค่าตอบแทนเป็นบิทคอยน์ นั่นยังไม่นับรวมค่าไฟจากการเปิดอุปกรณ์ทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืนอีกราว 3,000 บาท ต่อเดือน
ก่อนออกจากบ้านภาคภูมิจะเปิดบานเกร็ดหน้าต่างเอาไว้ เพื่อช่วยให้เครื่องมือเหล่านี้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น ในเวลาว่างระหว่างวันเขาจะเช็คดูจากมือถือดูว่า กำลังขุด และกำลังไฟวิ่งตามปกติไหม
“ผมว่าเป็นรายได้เสริมเลยทีเดียว ยิ่งมาลงเครื่องเองต้องศึกษาเรื่องคอมฯ เพิ่มขึ้นครับ เหมือนได้ทักษะเพิ่มขึ้นมาอีกอย่าง” ภาคภูมิกล่าว
ถ้ายังไม่จำเป็นต้องใช้เงินภาคภูมิเลือกที่จะถือเงินในสกุล BTC (Bitcoin) เอาไว้ และถึงจะยอมรับความเสี่ยงในอนาคต เขาไม่มีความกังวลว่ามูลค่าจะลดลง เพราะถึงอย่างไรก็ “ดีกว่าเอาไปฝากธนาคาร”
กระแสการขุดบิทคอยน์
กระแสการขุดบิทคอยน์ในไทยเป็นที่นิยมสูงสุดเมื่อช่วงประมาณ 3-4 เดือนที่แล้ว หนึ่งในผู้ประกอบการร้านคอมพิวเตอร์ในห้างพันทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ บอกกับบีซีไทยว่า มีลูกค้ากลุ่มวัยทำงานมาถามหาเยอะมาก นอกจากนี้ยังมีคนเข้ามาซื้อไปเก็บไว้ขายต่อทำให้การ์ดจอบางรุ่นขาดตลาดและราคาสูงขึ้นร้อยละ 10-15 จากปกติ
อดิศร พลอยมีรัศมี รู้จักบิทคอยน์มาตั้งแต่ปี 2553 แต่เดิมทีเข้าใจว่าเป็นแชร์ลูกโซ่ ก่อนจะเริ่มศึกษาเมื่อมีกระแสการขุดบิทคอยน์ในปีนี้ เขาเริ่มขายแรงงานอุปกรณ์ของเขาให้กับโปรแกรมขุดเหรียญดิจิทัลชนิดอื่นเพื่อแลกเป็นบิทคอยน์มาได้ 5 เดือนแล้ว โดยติดตั้งเครื่องไว้ใกล้กับหน้าต่างแล้วใช้พัดลมเป่า
“ให้พัดลมทำงาน 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเมืองร้อน ต่างประเทศขุดกันชิลล์ ๆ เลย พวกรัสเซียอะไรพวกนี้” เจ้าของธุรกิจขายสบู่ออนไลน์ วัย 29 ปีกล่าว
ในหลายประเทศ เช่น จีน และ รัสเซีย มีการลงทุนสร้างเครื่องขุดที่ประกอบด้วยเครื่องประมวลผลจำนวนหลักพัน หรือที่เรียกว่า “ฟาร์มขุดบิทคอยน์” ซึ่งมีการดูอย่างเป็นระบบในโกดังขนาดใหญ่ แต่ในไทยการขุดส่วนมากยังเป็นการทำเองในที่พักอาศัยมากกว่า
อดิศรทั้งแลกซื้อและเก็บบิทคอยน์เพื่อเป็นการลงทุน นอกจากนี้ยังแนะนำคนรู้จักและคนในครอบครัวให้ถือบิทคอยน์เอาไว้ เพราะมัน “ได้พิสูจน์ตัวเองมา 9 ปีแล้วครับว่ามันไม่ใช้เงินเฟ้อ หรือฟองสบู่”
แต่อดิศรคิดว่าช่วงนี้การซื้อขายบิทคอยน์น่าจะได้ผลตอบแทนดีกว่าการขุด ซึ่งการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้ขุดได้น้อยลง เขามองว่าในอนาคตจะมีเครื่องมือขุดที่ทันสมัยออกมามากขึ้น ทำให้เครื่องในปัจจุบันตกรุ่นและขุดได้น้อยลง
อดิศรพยายามขายเครื่องมือขุดของเขาอยู่เหมือนกัน แต่ยังขายไม่ออก
“ก็ขุดต่อไปเรื่อย ๆ ครับ ตอนนี้เครื่องราคาตกมาก คนหันไปเทรดคุ้มกว่าครับ ผมยังขายไม่ออกเลย” เขากล่าวอย่างไม่กังวล
พิจารณาความเสี่ยงของบิทคอยน์
ราคาของบิทคอยน์ผันผวนอยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับความต้องการในตลาดซื้อขาย และความมั่นใจถึงอนาคตของบิทคอยน์ นั่นรวมถึงจำนวนผู้ต้องการซื้อบิทคอยน์และการที่ร้านค้ารับบิทคอยน์ในการซื้อของในโลกความเป็นจริง
เช่นเดียวกับในหลายประเทศทั่วโลก บิทคอยน์ ยังไม่สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายของไทยได้ และธนาคารแห่งประเทศไทยได้เคยออกมาแนะนำให้ประชาชนพิจารณาถึงความเสี่ยง เนื่องจากการลงทุนผ่านสกุลเงินออนไลน์มีความผันผวนสูง เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของการใช้ บิทคอยน์ ในประเทศ รวมถึงมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงต่อประชาชน
ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ศาสตราจารย์ทางการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเมื่อสังเกตุจากมูลค่าการซื้อขายในเว็บไซต์ของไทยพบว่าส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นผู้เล่นรายย่อย ซึ่งควรต้องระวังเมื่อตลาดอาจถูกควบคุมโดยผู้เล่นรายใหญ่ที่ไม่มีใครทราบแท้จริงว่าเป็นใครและมีกี่คน
“บิทคอยน์ มีคนเล่นในตลาดค่อนข้างจำกัด เมื่อเทียบกับเงินจริงซึ่งมีแรงขายทำกำไร ไม่มีใครศึกษาว่ามีคนเล่นเท่าไหร่ มีคนถือก้อนใหญ่ ๆ อยู่ไม่กี่คน” ดร.อาณัติกล่าว
นอกจากความเสี่ยงจากลักษณะฟองสบู่ของบิทคอยน์แล้ว ดร.อาณัติกล่าวว่าการแลกเปลี่ยนในคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทยนั้นส่วนมากจะดำเนินการผ่านตัวกลาง ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในไทย แต่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของ ธปท.
“เวลาเปิดบัญชีกับเขา ผมต้องโอนเงินไปไว้ที่บัญชีของเขา และเขาเป็นคนจดบัญชีกับสกุลเงินนั้น เวลาทำธุรกรรมกันเอง ถ้าผมกับอีกคนอยู่ในบัญชีบริษัทตัวกลางเดียวกัน เขาก็ทำบัญชีภายในเหมือนโอนย้ายข้างในกันเอง ความเสี่ยงก็คือ ถ้าเขาไปขึ้นมา เงินของเราจะหายไปด้วย” ดร.อาณัติกล่าว
ในปี 2557 เว็บตลาดกลางแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก Mt. Gox ของญี่ปุ่นต้องปิดตัวลง หลังถูกแฮกระบบจนทำให้เงินดิจิทัลมูลค่ากว่า 460 ล้านเหรียญสหรัฐหายไป